ชื่ออื่น : -
ชื่อสามัญ : Cane Reed, Crape Ginger, Malay Ginger, Spiral Flag, White Costus
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Costus speciosus หรือ Cheilocostus speciosus
วงศ์ : Costaceae
ลักษณะทั่วไป :
-
ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 9.1–15.1 มิลลิเมตร สูง 1.5–2 เมตร อวบน้ำ กาบใบปิด โอบรอบลำต้น มีสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง ใบของเอื้องหมายนาเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับ รูปร่างกึ่งรูปขอบขนานกึ่งรูปหอก (oblong - lanceolate) ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้าง 6–8 เซนติเมตร ยาว 20.5–29.6 เซนติเมตร ใต้ใบมีขนละเอียดสีขาวคล้ายกำมะหยี่ โคนใบแผ่เป็นกาบสีเขียวหรือสีน้ำตาลแดงหุ้มลำต้น ดอกของเอื้องหมายนาออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อดอกตั้งตรง ดอกตูมจะมีกาบสีแดงคล้ำหุ้มอยู่ ดอกติดกันแน่น ดอกย่อยเป็นรูปกรวยสีขาวมี 3 กลีบ กลีบหนึ่งมีขนาดโตและกว้างเป็นจะงอย ดอยเอื้องหมายนาจะทยอยบานครั้งละ 1–2 ดอก ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ส่วนฝักและผลเมื่อสุกจะเป็นรูปไข่มีสีแดงสด เมล็ดมีสีดำ ผลแห้งแตกได้ ขยายพันธุ์โดยการแบ่งกอ หรือเพาะเมล็ด
ส่วนที่ใช้ : -
สรรพคุณ :
-
เหง้าสด มีรสฉุน เย็นจัด สามารถใช้ตำพอกบริเวณสะดือ รักษาโรคท้องมาน ในเหง้าพบสารไดออสเจนิน (diosgenin) ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง และเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ยาสเตอรอยด์ ใช้ขับปัสสาวะ เป็นยาถ่าย แก้ตกขาว บวมน้ำ ฆ่าพยาธิ รักษา โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แผลอักเสบบวมมีหนอง และฆ่าพยาธิ แต่มีข้อควรระวัง คือ เหง้าสดจะมีพิษ เมื่อบริโภคในปริมาณมากจะทำให้อาเจียน ท้องร่วงรุนแรง และทำให้แท้งเนื่องจากการที่มีฤทธิ์ต้านการฝังตัวของตัวอ่อนที่ผนังมดลูก วิธีลดพิษคือต้องทำให้สุกก่อน
-
ราก เป็นยาขม ขับเสมหะ ขับพยาธิ แก้ไอ แก้โรคผิวหนัง
-
น้ำคั้น เป็นยาระบาย รับประทานกับพลู แก้ไอ
-
ใบ แก้ไข้ทุกชนิด